Monday, October 24, 2011

สิ่งที่ข้าพเจ้าพบเห็นในภาวะน้ำท่วม นอกจากน้ำ (จาก facebook คุณ "ผมอยู่ข้างหลังคุณ")

ที่มา: https://www.facebook.com/IbehindYou

*********************************

สิ่งที่ข้าพเจ้าพบเห็นในภาวะน้ำท่วม นอกจากน้ำ

1 เราอยากให้ทุกคนมีเสรีภาพและกล้าแสดงความเห็นทางการเมือง แต่ เมื่อมีคนมีชื่อเสียง แสดงความเห็นทางการเมืองตรงข้ามกับเราผ่านทางทวิตเตอร์หรือ fb ในระดับความรุนแรงที่ไม่ต่างจากเราบ่นกับเพื่อนเท่าไรนัก

ความเห็นของเขาก็จะถูกแคป ความเห็น เอามารุมยำรุมสกรัมผ่านหน้าจอ แล้วเราก็ไปร่วมยำอย่างมันส์มือ

2 เราเรียกร้องให้มีความเท่าเทียม ไม่ดูถูกเพื่อนมนุษย์ แต่ เราใช้คำศัพท์ เช่น ควาย , สลิ่ม ฯลฯ เรียกฝั่งตรงข้ามโดยไม่รู้สึกอะไร ไม่คิดว่าตัวเองเหยียดเขาอยู่ แต่พออีกฝ่ายเรียกเราด้วยศัพท์แบบนี้เราไม่พอใจทันที

3. คนใหญ่คนโตของทั้งสองฝั่งทางการเมือง พยายามบอกว่า น้ำท่วม ช่วยกันก่อน อย่าเล่นการเมือง แต่ เราจะเห็น การเมือง แฝงในคำพูดของเขาอย่างเนียนเสมอๆ

แล้วเรามักจะบ่นด่า นักการเมืองฝั่งตรงข้าม ที่ใช้้ การเมือง มาเล่นในภาวะน้ำท่วม แต่ เหมือนเรามองไม่เห็นว่า นักการเมืองฝั่งของเรา ที่ใช้ การเมือง มาเล่นในภาวะน้ำท่วม เช่นกัน

4. เราอยากให้คนไทยจับมือผ่านวิกฤติไปด้วยกัน เราอยากให้ช่วยกันหาทางแก้อย่างสร้างสรรค์ แต่ สิ่งที่เราทำคือ จับเอาเรื่องเล็กๆน้อยๆที่ไม่เกี่ยวกับปัญหาปัจจุบัน เอามาด่ามาเหน็บแนม มองข้ามความพยายาม หรือ เรื่องดีๆ ที่เขาพยายามทำอยู่

หรือ พยายามปกป้องฝั่งเดียวกัน เฉไฉไปพูดด้านดีๆ ทั้งๆที่เห็นชัดว่า มีปัญหาบางอย่างเกิดขึ้นจริง ที่น่าจะช่วยกันปรับปรุง

หรือ ตัดคำพูดประโยคนั้น ประโยคนี้มาขยายความต่อให้เป็นเรื่องใหญ่ เพียงเพื่อให้เห็นว่า อีกฝ่ายไม่ดีอย่างไร

หรือ แก้ต่างให้ฝั่งเดียวกัน เช่น หาหลักฐานมายืนยันว่าฝั่งเราไม่ได้ทำอะไรผิด แล้วด่าฝ่ายตรงข้าม แต่ พอฝั่งเราผิดจริง เรากริบ ...

5. เมื่อน้ำมาจริง ในชุมชนที่อยู่รอดและฟื้นตัวเร็วที่สุด จะไม่ค่อยได้ยินคำว่า สลิ่ม , ควาย , ไพร่ , อำมาตย์ ฯลฯ แต่ทุกคนลงมาช่วยกัน

ในขณะที่ ชุมชนที่เรายังเห็นคำเหล่านั้นวนเวียน หากมิใช่ ชุมชนออนไลน์ ก็มักจะเป็น ชุมชนที่น้ำยังไม่วิกฤติ หรือเป็น ชุมชนที่วิกฤติมาแต่ยังนั่งอยู่หน้าจอ

6. ในภาวะวิกฤติ มักจะมีคนตำหนิ การมองโลกในแง่ดี ในเชิงโลกสวย ไม่ช่วยอะไร แต่ ข้าพเจ้าไม่เห็นด้วย และคิดว่า คนที่มองเช่นนั้น ยังสับสนระหว่าง ‘มองโลกในแง่ดี’ กับ ‘หลอกตัวเอง’

เพราะการมองโลกในแง่ดี ไม่เคยทำให้ชีวิตเลวร้าย แต่ต้อง มองโลกในแง่จริง คือ เห็นทั้งในแง่ดี และ แง่ร้าย โดยไม่ปล่อยให้จมอยู่กับแง่ร้ายจนเกินไป และ ไม่หลอกตัวเอง

เช่น น้ำท่วมบ้าน มองในแง่ดี คือ เรายังเอาชีวิตรอดทัน เรายังดูแลคนที่เรารัก สัตว์ที่เราเลี้ยง และ ของสำคัญๆได้อยู่

แต่ หลอกตัวเอง คือ “ไม่เป็นไรหรอก อย่าเครียด แค่น้ำท่วมบ้าน”

ปัญหาของการมองโลกที่แท้จริง คือ มองโลกด้วยอคติท่วมท้น , มองโลกอย่างไร้เหตุผล , มองโลกโดยเอาตนเป็นบรรทัดฐานตัดสินคนอื่นๆ และ มองโลกโดยปล่อยให้อารมณ์พาไป

ในภาวะเช่นนี้ การมองโลกในแง่ดี จากสิ่งดีๆที่ยังมีและเหลืออยู่ คือ กำลังสำคัญของจิตใจในการสู้วิกฤติ

7. การมี social media กระตุ้นให้ จิตสำนึกดีๆ ส่งต่อได้ง่ายขึ้น กระตุ้นให้เราอยากช่วยเหลือ อยากทำอะไรดีๆ และ รับข่าวสารที่เร็วกว่าทางการ

แม้จะมีคนบ่นว่า บางคนออกไปช่วยเหลือเพียงเพื่ออยากจะถ่ายรูปมาโชว์ในหน้า FB แต่ ข้าพเจ้าคิดว่า ตราบใดที่พวกเขา ไม่ไปสร้างความเดือดร้อนเพิ่มเติม ต่อให้ทำเพื่ออยากอวดอยากโชว์ ในภาวะวิกฤติเช่นนี้ ก็ยังน่าชื่นชม

แต่ การเป็นคนดีของบางคน เผลอเข้าใจผิดคิดว่า ‘คนที่ไม่ทำดีเหมือนตนเอง คือ คนไม่ดี’ แล้วใช้ความเป็นคนดีของตัวเองกระทบกระเทียบคนอื่น

หรือเช่น กรณีห้างสรรพสินค้าที่ให้จอดรถฟรี แล้วเราชื่นชม แต่พอมีบางห้างไม่ให้จอดฟรี เราตำหนิว่าใจไม้ไส้ระกำ ทั้งๆที่เขาไม่ได้ทำผิดอะไร และ เขาเองก็มีภาระที่ต้องแบกรับ รวมถึงอาจช่วยสังคมในทางอื่นที่เราไม่รู้แล้วก็ได้

และ คนที่ทำหรือช่วยเหลือน้อยกว่า ไม่ได้แปลว่า เป็นคนที่ดีน้อยกว่า

หรือ บางคน , บางอาชีพ เช่น ตำรวจ ฯลฯ เราไม่เห็นเขาผ่านหน้าจอทางสื่อ ไม่ได้แปลว่า เขาไม่ได้ทำงานหนัก แต่ความช่วยเหลือของเขา อาจไม่ใช่งานที่เราได้เห็นผ่านทางโทรทัศน์

8. ข่าวสารส่วนใหญ่ในตอนนี้ โฟกัสไปที่ ‘กรุงเทพจะท่วมหรือไม่ท่วม’ แต่ ข้าพเจ้ารู้สึกเหมือนกับว่า สื่อหลักๆ ไม่ค่อยได้พูดถึง หลายจังหวัดที่ประชาชนอยู่ร่วมกับน้ำท่วมขังมาแล้วเป็นเดือนๆ

“จำเป็นต้องอพยพหรือไม่ ?” เป็นคำถามที่คนกรุงเทพหวาดหวั่น แต่ ถ้าสื่อนำเสนอให้เห็นว่า หลายจังหวัดที่ไม่ทันเตรียมตัวเหมือนคนกรุงเทพ เขาอยู่อย่างไร , เขาสู้วิกฤติมาอย่างไรเป็นเดือนๆ และ มีวิธีการช่วยเหลืออย่างไร

อาจทำให้ คนกรุงเทพ ตัดสินใจได้ง่ายขึ้น และ ทำให้ คนต่างจังหวัดที่น้ำท่วมอยู่ รู้สึกว่า ยังมีคนให้ความสนใจ

9. เรามักด่าคนไทยในภาวะวิกฤติ แล้วยกญี่ปุ่นเป็นตัวอย่างจากเหตุการณ์สึนามิที่ผ่านมา ทั้งที่ความจริงแล้ว ภาพคนเห็นแก่ตัว ความวุ่นวาย จราจล เป็นเรื่องธรรมดาของสังคมส่วนใหญ่ในภาวะวิกฤติรุนแรง เช่น แคธลีน่าในอเมริกา หรือ แผ่นดินไหวที่เฮติ ฯลฯ ญี่ปุ่นต่างหากที่ผิดปกติ

เพียงแต่เป็น ความผิดปกติ ที่ดีและน่าชื่นชม ซึ่งกว่าจะไปถึงจุดนั้นได้ ประสบการณ์จะสอนให้ประชาชนและรัฐบาลค่อยๆเรียนรู้ และ เตรียมพร้อมในวิกฤติครั้งถัดไป

เราไม่สามารถสร้างวินัยหรือความใจเย็นมีสติ ในวันเดียว แต่ เราสามารถพัฒนาให้มันดีขึ้นเรื่อยๆได้ถ้าช่วยกัน

10. ไม่รู้ว่าเมืองนอกตอนวิกฤติยังมีอารมณ์ขันมากแค่ไหน แต่ คนไทยมีอารมณ์ขันได้เสมอ

ซึ่ง อารมณ์ขัน เป็นกลไกทางจิตที่ดีในการต้องผจญความทุกข์หรือวิกฤติ แต่นั่นหมายถึง อารมณ์ขันที่เหมาะสม

เพราะ บางอารมณ์ขันที่เล่นหนักในเชิงล้อเลียนดูุถูกคนทำงานในฝั่งการเมืองที่เราไม่ชอบ การส่งต่อๆกันไป นอกจากจะทำให้เพื่อนเราที่อยู่คนละฝั่ง หัวเราะไม่ออก ยังบั่นทอนกำลังใจของคนทำงานอีกต่างหาก

การเมืองที่ฝังรากลึก เป็นข้อดีที่ช่วยกระตุ้นให้เรารู้ทันสังคมและมีส่วนร่วมในการเมืองมากขึ้น แต่ หากเราปล่อยให้มันฝังในใจเรามากชนิดเอะอะอะไร ก็ โยงการเมืองเข้ามาจับตลอด ก็คงยากเหลือเกินที่จะผ่านพ้นวิกฤติไปได้อย่างราบรื่น ดูได้ง่ายๆจาก คนใหญ่คนโตที่ขัดแย้งกัน แล้วส่งผลกระทบต่อประชาชนอย่างเราๆที่นั่งรับข่าวสาร

การติเพื่อก่อ , การเตือนสติพวกเดียวกัน หรือ ด่าเพื่อระบายความอึดอัดใจ ย่อมดีกว่า การปกป้องพวกเดียวกัน ชนิดไม่ลืมหูลืมตา ว่าผิดพลาดไปมากขนาดไหน หรือ จ้องติเพื่อทำร้ายหรือทำลายฝั่งตรงข้าม หวังให้สิ้นชื่อไปกับน้ำท่วมในครั้งนี้

เป็นศัตรูจะฆ่ากันให้ตาย รอน้ำท่วมผ่านไปก็ยังไม่สาย แต่การจ้องจะเข่นฆ่าให้ตายในภาวะวิกฤติ อาจจะพาตัวเองกับคนรอบข้างที่ไม่รู้อิโหน่อิเหน่ ตายไปพร้อมๆกันทั้งหมด

****************

No comments: